นักไอที 3 ประเภทที่น่าสนใจ

ปัจจุบันผมทำงานอิสระ จริงๆ ก็ทำงานอิสระมาตลอด เคยทำงานประจำแค่ 2 ปีกว่าเอง ผมเป็นอาจารย์อิสระ ที่ปรึกษาอิสระ และสถาปนิกไอทีอิสระ 🙂 ทำเกี่ยวกับ enterprise architecture, software architecture, non-functional requirement, test case design, test architecture
ผมทำงานด้านไอทีมา 17 ปีละ เริ่มตั้งแต่เรียนอยู่ปี 3 พบเจอองค์กรมาจำนวนไม่น้อย ทั้งภาครัฐ เอกชน แค่ภาคธนาคารก็ไม่ต่ำกว่า 15 ธนาคาร เทเลคอมนี่เจอมาทุกเจ้า บริษัทไอทีที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แทบทุกรายจนถึงบริษัทเล็กๆ ที่มีพนักงานไม่ถึง 10 คน ได้พบคนอยู่ 3 ประเภทที่น่าสนใจ ได้แก่
  1. คนที่ ‘ทน’ ทำงานไอที ใครให้ทำอะไรก็ทำ ให้ศึกษาอะไรก็ศึกษาไปงั้นๆ ทำงานแบบไม่มี ‘แพชชั่น’ ไร้แรงบันดาลใจ ทั้งยังไม่ชอบเรียนรู้ไม่ชอบอ่านหนังสือ แถม soft skill ก็ย่ำแย่ เพราะคนไอทีคุยกับใครก็ไม่รู้เรื่องวันๆ ใช้แต่สมองซีกซ้าย EQ เลยไม่ค่อยได้เรื่อง คนแบบนี้จะโตไปสายบริหารก็ลำบาก จะไปสาย specialist ก็คงไม่รอด ยิ่งพัฒนาตัวเองต่อไปไม่ได้ นอกจากตำแหน่งไม่ขึ้น เงินเดือนก็ไม่ขึ้นด้วย และอาจถึงขั้นลดลงด้วยซ้ำ สุดท้ายคนประเภทนี้ไม่ถูกบีบจนต้องออกไปจากวงการ ก็ต้องสละชีพตัวเองแทน หรือถ้ายังอยู่รอดต่อไปได้เพราะด้วยหนี้สินและภาระและไร้ที่ไป ก็ต้องทนทำงานไอทีอย่างสนุกสุดเศร้าต่อไป ปล่อยให้เด็กๆ ขึ้นมาเหยียบหัวป่ายปีนไปวันๆ
  2. ผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารไอที ที่ขาดทักษะด้านไอทีและมีวิสัยทัศน์ด้านไอทีที่ย่ำแย่ แทบทุกองค์กรมีผู้บริหารแบบนี้ทั้งนั้น และเป็นจุดอ่อนด้านไอทีขององค์กรทีเดียว คนจำนวนมากมาสนใจไอทีเพราะสนุกกับเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ นานา แต่หาได้น้อยที่คิดจะศึกษาจริงจังและบริหารได้ดี หลายองค์กรจึงลงเอยด้วยการใช้ไอทีอย่างสุรุ่ยสุร่าย หรือไม่ก็งกสุดตัว แต่หาได้น้อยที่จะใช้ไอทีได้อย่างคุ้มค่าและ ‘พอเพียง’ อย่าให้บอกเลยนะว่ามีที่ไหนบ้าง ภาพเบื้องหน้าที่เห็นจากผลิตภัณฑ์และบริการของเขา กับเบื้องหลังนี่มันอาจคนละเรื่องกันเลยก็ได้ หนำซ้ำพวกผู้บริหารสไตล์ ดร. และนักวิชาการยิ่งเยอะ วันๆ นั่งทำงานบนหอคอยงาช้าง ฝ่าเท้าไม่เคยสัมผัสแม้ยอดหญ้าและไอดิน เจอปัญหาด้านไอทีทีไรก็แก้ด้วยนโยบาย ‘เงินเขาไม่ใช่เงินเรา’ และหลักวิชาการแบบ ‘เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง’ สำหรับผมทุกปัญหาแก้ได้ด้วยดีไซน์ ดีไซน์ในที่นี้ไม่ใช่แค่การออกแบบ
  3. คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองเก่งหรือมีแววเก่ง หนำซ้ำยังขาดโอกาส อาจเพราะไม่กล้าแสวงหาเอง หรือไม่มีใครหยิบยื่นให้ เพราะผู้บริหารหรือหัวหน้าบ้านเรามันใช้คนกันไม่ค่อยเป็น ที่น่าตกใจมากคือคนประเภทที่ 3 มีเยอะมาก ‘พวกขาดโอกาส’ ทั้งที่มีวิทยายุทธในตัวเยอะ หรือสามารถฝึกฝนเพิ่มเติมได้อีกมาก เวลาเจอคนประเภทนี้ผมชอบไปกระซิบ ‘ออกเหอะ’ หรือไม่ก็ยุให้ลุกขึ้นมาปฏิวัติ ถ้าไม่สำเร็จก็ ‘ออกเหอะ’ ตลาดแรงงานด้านไอทีบ้านเราขาดแคลนจะตาย ไม่ต้องกลัวตกงาน ขอแค่มี ‘แพชชั่น’ รักการเรียนรู้ กล้าสร้างโอกาสให้ตัวเอง

 

งานไอทีถ้าไม่มี ‘self-change management‘ นี่รอดยาก ไม่รักกันจริงก็รอดยาก ยิ่งไม่ชอบเรียนรู้ไม่ชอบอ่านหนังสือก็จบเห่ จึงหาคนไอทีอายุเกิน 40 ได้น้อยนักในภาคเอกชน ส่วนในภาครัฐมีแต่แบบเกิน 40 แล้วทั้งนั้น หาต่ำกว่า 40 น้อย 😀 เหตุเพราะคนไอทีเดี๋ยวนี้บริโภคเงินเป็นภักษาหารจึงเมินงานภาครัฐ แต่ขอโทษนักไอทีอายุเกิน 40 ในภาครัฐหลายรายเก่งสุดๆ
หากเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เรื่อยๆ ให้ทันกับเทคโนโลยีและ ‘โลก’ ที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ก็จะพบโอกาสได้เรื่อยๆ เพราะโอกาสมักมาพร้อมการเปลี่ยนแปลง
ณรงค์ จันทร์สร้อย
๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

ใส่ความเห็น