Intro to Design Principles & Architectural Tactics

Design Principles

รูปที่ 1 ภาพร่าง (เครดิตภาพจากเว็บ johnlovett.com)

การแก้ปัญหาเชิงสถาปัตยกรรมและปัญหาในการออกแบบซอฟต์แวร์ถือเป็นทักษะสำคัญของนักออกแบบ, นักวิเคราะห์ระบบ และสถาปนิกซอฟต์แวร์ คนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพื้นฐานเหล่านี้ อาจเพราะไม่ทราบว่าเป็นสิ่งจำเป็น หรืออาจพึงพอใจแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี, เฟรมเวิร์ก และสิ่งสำเร็จรูปต่างๆ นานา มากกว่า

อาจเพราะระบบการศึกษาของประเทศไทยเราที่บิดเบี้ยว และวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่ทำให้ผู้คนฉาบฉวยมากขึ้นๆ การก้าวข้ามบันไดขั้นพื้นฐานเพื่อไต่ขึ้นไปสู่ขั้นสูงๆ ด้วยการใช้วิธีการแบบฉาบฉวย รวบรัด รวดเร็ว จึงเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากพึงใจกระทำ เมื่อแก้ปัญหาได้ก็หลงผิดเกิดอุปาทานว่า ‘นั่นแน่ะ…แก้ได้จริงๆ ด้วย’ แล้วยึดติดไปว่าโซลูชั่นนั้นสามารถแก้ปัญหานั้นได้จริง แท้จริงแล้วเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แก้ได้ชั่วประเดี๋ยว…เดี๋ยวเดียวปัญหามันก็พุพองดั่งฝีที่แตกจนหนองไหลเยิ้ม…

การแก้ปัญหาต้องแก้ที่เหตุ-ไม่ใช่แก้ที่ปลาย แม้การแก้ที่ปลายจะรวดเร็ว แต่ไม่มีทางแก้ให้หายขาด คนจำนวนมากที่ทำงานด้านนี้ เมื่อทำงานไปสักระยะใหญ่ๆ จะพบว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งเขาจะไม่สามารถไต่ขึ้นบันไดขั้นสูงๆ ต่อไปได้แล้ว เพราะพื้นฐานความรู้และทักษะที่มีอยู่เปราะบางเหลือเกิน ไม่แน่นพอที่จะ ‘up level’ ได้ คราวนี้ล่ะทั้งเงินเดือนก็อาจจะขึ้นยาก และตำแหน่งหน้าที่ก็อาจจะขึ้นยาก หลายคนทนภาวะกดดันไม่ไหวก็หาทางออกให้ตัวเองง่ายๆ ด้วยการเปลี่ยนสายงาน โดยมากมักหันหัวเปลี่ยนทิศไปสายบริหาร ไม่ก็หันไปทำอาชีพอื่น หรือไปทำธุรกิจอื่นกันไปเลย

หากคุณยังหลงใหล (passion) ในงานออกแบบระบบและสถาปัตยกรรม ต้องการเติบโตไปในสาย ‘specialist’ อย่างแท้จริง ลองทบทวนตัวเองดูครับ ว่าทักษะพื้นฐานการแก้ปัญหาเชิงสถาปัตยกรรมและปัญหาในการออกแบบซอฟต์แวร์ของตนเองนั้น ‘แน่น’ และ ‘แข็ง’ พอไหม? หากไม่หรือยังไม่แน่ใจ ลองมาปรับพื้นฐานกันครับ ไม่ต้องอาย ไม่ต้องกลัว ใครๆ ก็เป็นกันได้ ผมเองยังเคยเป็น อ่านเพิ่มเติม

ผักปลอดสาร

เรื่องสั้นเรื่อง ‘ผักปลอดสาร‘ เป็นเรื่องสั้นในชุด ‘สิ่งมีชีวิตตกค้างในครอบครัว’

โดย ณรงค์ จันทร์สร้อย (encipher@yahoo.com), ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕


เสียงเครื่องปรับอากาศกำลังสำลักฝุ่น ไอค่อกแค่กรบกวนบรรยากาศคนในห้องเกือบแปดสิบคนมากว่าห้าสิบนาที นอกจากไอแล้วยังหายใจติดขัด พ่นลมรวยรินแผ่วเบา ผนังข้างหนึ่งติดทางเดินภายในอาคาร อีกข้างเป็นกระจกแผ่นขนาดใหญ่ติดฟิล์มกันความร้อนเรียงซ้อนติดกันทั้งผนัง คล้ายตามอาคารสำนักงาน แต่วันนี้แสงแดดข้างนอกแรงกล้าเกินฟิล์มจะต้านทาน ไม่มีเครื่องกีดขวางทางแสงใดๆ ไม่ว่าม่านหรือมู่ลี่ เพราะห้องนี้เพิ่งเปิดใช้งานเป็นวันแรกหลังจากเงียบเหงามากว่าสองเดือน อาจยังติดมู่ลี่หรือซักผ้าม่านไม่ทัน

นักศึกษาหลายคนที่นั่งใกล้กระจกหยิบสมุดขึ้นมาพัดบ้างบังแสงบ้าง หลายคนเหงื่อเริ่มผุดไหลย้อย

ซิม – อาจารย์พิเศษกำลังยืนสอนวิชาพื้นฐานการออกแบบซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ ยืนพูดคนเดียวอยู่หน้าห้องอย่างไม่รู้สึกร้อน วันนี้เป็นวันเริ่มเรียนวันแรกหลังเปิดภาคเรียนเทอมหนึ่งปีหนึ่งของนักศึกษาปริญญาตรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ภาควิชาการออกแบบซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ หรือ คอมเมอร์เชียลซอฟต์แวร์ดีไซน์ ของมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง

เธอคือกำลังสำคัญที่วิ่งเต้นเพื่อให้มีสถาบันการศึกษาสักแห่งที่สนใจและยอมเปิดภาควิชานี้ขึ้น ด้วยความบกพร่องเล็กน้อยชองซิมที่มีคำหน้าชื่อแค่ ‘นาง’ ไม่ได้มีตัวย่ออย่าง ‘ศ.’, ’ผศ.’, ’รศ.’ หรือ ’ดร.’ และเธอจบเพียงปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแสนธรรมดาเท่านั้น จึงไม่มีสถาบันการศึกษาใดใส่ใจไอเดียและความตั้งใจของเธอนัก

แต่ด้วยชื่อเสียงในวงการด้านการออกแบบซอฟต์แวร์ให้กับองค์กรขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ภาคการเงิน โทรคมนาคม พลังงาน โรงพยาบาล ที่สั่งสมมายาวนาน ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาและวิทยากรพิเศษให้กับองค์กรต่างๆ มานับไม่ถ้วน จึงมีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งยอมใจอ่อน ทำเป็นมองไม่เห็นคำนำหน้าชื่อและวุฒิการศึกษาของเธอไปเสีย ให้เธอมาเป็นที่ปรึกษาช่วยวางหลักสูตร

เธอสังเกตว่าอธิการบดีไม่ได้ใส่ใจในหลักสูตรนี้เท่าใดนัก เพียงแต่ชื่อหลักสูตรและวัตถุประสงค์ดูน่าสนใจ น่าจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับมหาวิทยาลัยได้ไม่น้อย เพื่อจะได้เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยในระดับเดียวกันได้ก้าวนำหน้าไปอีกก้าว

ซิมใช้เวลากว่าสองปีจนเข็นหลักสูตรผ่านขั้นตอนวิบากต่างๆ มาได้ จนได้เปิดในปีการศึกษานี้เป็นครั้งแรก เธออาสาขอสอนในวิชาพื้นฐานการออกแบบซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ให้เอง โดยไม่คิดค่าสอนแม้แต่บาทเดียว เพราะถ้าไม่ยื่นข้อเสนอแบบนี้ คงยากที่มหาวิทยาลัยจะยอมจ้างเธอ ด้วยวุฒิการศึกษาและการเมืองภายในคณะและมหาวิทยาลัยช่างเข้มข้นเหลือเกิน แต่กระนั้นเธอก็ยังโดนอาจารย์อาวุโสบางท่านเหลือบมองด้วยหางตาอยู่ดีเวลาต้องมาเจอหน้ากัน

ซิมสังเกตว่าเกือบชั่วโมงที่ผ่านมานักศึกษาหลายคนแสดงท่าทางเบื่อ ง่วง ด้วยอากาศที่ไม่เป็นใจอย่างนี้ กับเนื้อหาที่ฟังดูยากตั้งแต่เริ่มเรียน ศัพท์เฉพาะและศัพท์ภาษาอังกฤษล้นท่วมห้อง เธอชินกับการบรรยายให้ผู้ฟังอายุตั้งแต่สามสิบต้นๆ ยันห้าสิบกว่าฟังจนชิน ลืมไปว่าตอนนี้กำลังสอนเด็กอายุยังไม่พ้นยี่สิบดีเท่าไร อาจกลายเป็นการเริ่มต้นวิชาที่แสนเบื่อหน่ายไปได้ อีกสามสิบกว่านาทีจะหมดเวลา เธอตัดสินใจหยุดเนื้อหาหนักหัว แล้วสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย

นักศึกษามองไปยังฉากที่แสดงภาพที่ฉายจากโปรเจ็คเตอร์ติดเพดาน กำลังดับมืด ทิ้งไว้เพียงพื้นฉากขาวโล่ง

อ่านเพิ่มเติม